--พระเทพปริยัติวิธาน (บุศย์ โกวิโท)--
ประวัติพระเทพปริยัติวิธาน (บุศย์ โกวิโท)

       นามเดิม บุศย์ นามสกุล เปรมวงศ์ศิริ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๕๘ เป็นบุตรนายสน นางบุญ ภูมิลำเนาเดิมอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลไผ่พระ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เคยรับราชการเป็นผู้อบรมตรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ณ วัดหนองแห้ว ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ สอบได้นักธรรมชั้นเอก และจบการศึกษาพิเศษเป็นนักเรียนอบรมครูคณะสงฆ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๔

ชีวิตในวัยเยาว์

       หลวงพ่อได้เคยเล่าเรื่องตอนที่ท่านเกิดไว้ในบทความเรื่อง วิถีความคิด ชีวิตหลวงพ่อ ความตอนหนึ่งว่า        โยมผู้หญิงเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ตอนหลวงพ่อจะเกิดโยมผ่องที่เป็นเพื่อนแก แกวิ่งมาบอกว่า "เฮ้ย บ้านแก่เป็นอย่างไรวะ เห็นดวงไปมันตกที่หลังคาบ้านมึง นึกว่าไฟไหม้บ้าน" โยมผู้หญิงบอกว่า "เอ๊ะ ไม่เห็นมีอะไร" โยมผ่องยังบอกอีกตอนที่แม่ตั้งท้องว่า "ลูกของแกคนนี้จะมีบุญ" ต่อมาพอเราบวชเป็นพระแล้ว เป็นนักเทศน์แล้ว ก็ยังไม่เห็นมีอะไร โยมผู้หญิงก็ไปต่อว่าโยมผ่องว่า "อ้าว มึกว่าลูกกูมีบุญอย่างไร ไม่เห็นมีอะไร" โยมผ่องก็บอกว่า "อ้าว ก็กูเห็นอย่างนั้นจริงๆนี้หว่า" เวลานี้โยมผ่องก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๓๗) เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จ มาปฏิสนธิ ต้องมีอะไรพิเศษ

       หลวงพ่อได้อยู่กับย่ามาตั้งแต่อายุประมาณ ๑ ขวบเศษ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๗-๘ ขวบ หลวงปู่เพิ่ม ปู่แท้ๆของหลวงพ่อซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนาคสโมสร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ให้หลวงพ่อบวชเป็นเณรที่วัดนาคสโมสรนั้น เพื่อจะได้เรียนบาลีที่วัดบันไดช้าง เมื่ออายุประมาณ ๑๖ ปี ปู่เปลี่ยนซึ่งเป็นปู่เขยได้นำหลวงพ่อมาฝากกับหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์ที่วัดดาวดึงษาราม

       หลวพ่อได้เล่าชีวิตของท่านตอนที่อยู่วัดดาวดึงษารามไว้ว่า หลวงพ่อมาอยู่วัดดาวดึงษารามเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ที่จำได้เพราะหลวงพ่อมายังเป็นเด็กตอนนั้นมีการสร้างศาลาท่าน้ำของวัดดาวดึงษ์ ซึ่งขณะนั้นกำลังมุงหลังคา เมื่อหลวงพ่อจะมาอยู่วัดดาวดึงษารามเนี่ย ได้ยินผู้ใหญ่ หลวงปู่เพิ่ม หลวงปู่เปลี่ยนบอกว่า เป็นญาติกับหลวงพ่อวัดดาวดึงษ์ มีความสนิทชิดเชื้อกับหลวงปู่เปลี่ยน เป็นลูกพี่ลูกน้อง เรียกพี่เรียกน้องกัน หลวงพ่อนึกอย่างนี้ก็เลยอยากจะมาอยู่วัดดาวดึงษ์ ก็เลยบอกหลวงปู่เปลียนกับหลวงปู่เพิ่ม เจ้าอาวาสวัดนาคสโมสร หลวงปู่เพิ่มเป็นหลวนหลวงปู่ของหลวงพ่อเอง และผู้ใหญ่เล่ากันว่า สนิทกันมากกับเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์ เมื่อสมัยโยมผู้ชายของหลวงพ่อ (โยมสน) เป็นหนุ่มบวชพระ มีเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์เป็นคู่สวด ก็เลยบอกให้นำมาฝากยังวัดดาวดึงษ์ หลวงพ่อได้เล่าถึงชีวิตตอนเมื่ออายุ ๑๑-๑๒ ปีว่า ครั้นหลวงพ่อยังเป็นเด็กๆอยู่ อยู่ที่วัดบ้านนอกบ้านเดิม ที่วัดนาคสโมสร เมื่อก่อนเขาเรียกว่า วัดท่าเกวียน อายุคงประมาณ ๑๑-๑๒ ปี ฝันว่า โดดจากนอกชานวัดจะลงมาข้างล่าง เผอิญลอยไปลโคนต้นโพธิ์ และฝันครัั้งนั้นจำได้แม่นยำจนบัดนี้ อย่างติดหูติดตา เมื่อมาเป็นรองเจ้อาวาสวัดดาวดึงษ์แล้ว (พ.ศ.๒๕๐๒) ขณะนั้นหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์จวนจะมรณภาพ คุยกับท่านเล่าให้ท่านฟัง ท่านเลยบอกว่า "อ้าว แกถึงไม่ได้อยู่บ้านตั้งแต่เด็กๆ ดีนะที่แกลงที่ต้นโพธิ์ ถ้าลงที่ต้นอื่นจะลำบาก"

อุปสมบท

       เมื่ออายุครบอุปสมบทหลวงพ่อได้อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดบันไดช้าง บวชอยู่ได้ประมาณ ๑๐ ปีก็ลาสิกขา และได้เข้ารับราชการที่กรมราชทัณฑ์ ในตำแหน่งผู้อบรมตรี รับราชการได้ประมาณ ๕-๖ ปีก็ออกจากราชการโดยตั้งใจจะกลับไปอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง และการในอุปสมบทครั้งนี้ หลวงพ่อตั้งใจจะถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนา หลวงพ่อได้อุปสมบท ณ วัดหนองแห้ว อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ในขณะดำรงตำแหน่งพระธรรมวิสุทธาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๓ และจากการที่สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอุปัชฌาย์นั่นเอง หลวงพ่อพูดเสมอว่า "หลวงพ่อมีศิษ์เป็นดารา มีพระอุปัชฌาย็เป็นสมเด็จ คู่สวดอเมริกา อุปัชฌาย์อินเดีย"


งานปกครอง

       เมื่ออายุพรรษากาลสมควรที่จะรับภารธุระทางพระพุทธศาสนาได้แล้ว หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในพ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง หลวงพ่อเล่าว่า ต่อมาภายหลัง ก่อนจะกลับมาเป็นสมภารวัดดาวดึงษ์ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง อำเภอบางกรวย นนทบุรี สมัยนั้นได้ไปสร้างวัดสร้างโบสถ์ที่เข้าสร้างค้างไว้อยู่ แล้วก็มาตั้งสำนักเรียนบาลีเหมือนกัน แต่ต่างจังหวัดก็ตั้งไปอย่างนั้น มักไปไม่ค่อยรอด

       ต่อมาน้องสาวหลวงพ่อ (นางพร้อม ตรีวาส) ได้เล่าว่า ขณะที่หลวงพ่ออยู่ที่วัดพิกุลทองนั้น หลวงพ่อก็ไปสร้างโบสถ์ที่วัดนาคสโมสรอันเป็นวัดบ้านเดิมด้วย โดยหลวงพ่อได้ออกไปเรี่ยรายหาเงินสร้างโบสถ์จนเสร็จ หลวงพ่อได้หาวิธีการเพื่อที่จะได้เงินมา เช่น ติดต่อกับหน่วยทหารพลร่ม ให้นำทหารไปโดดร่มให้ชมฟรี เพราะในสมัยนั้น การโดดร่มเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้านในถิ่นนั้น ติดต่อช้างไป ๓ เชือก เพื่อให้คนขึ้นหลังช้างแล้วถ่ายรูป เก็บเงินเข้าวัดคนละ ๕๐ บาท แต่ช้างที่ติดไปวัดนาคสโมสรนั้นเมื่อจะไปถึงวัดต้องข้ามแม่น้ำบริเวณย่านตาเขียว ตำบลบ้านแป้ง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช้างถูกพรายน้ำล้มไป ๑ เชือก น้องสาวของหลวงพ่อเล่าต่อว่า ตอนนั้น วัดนาคสโมสรเป็นวัดบ้านนอก หนทางทุรกันดารหน้าแล้ง หลวงพ่อต้องนั่งหลังช้างออกไปเรี่ยไร กว่าอุโบสถ์จะเสร็จลงได้ หลวงพ่อได้ซูบผอมตัวดำจนเห็นได้ชัด
       พ.ศ.๒๕๐๒ หลวงพ่อได้เป็นเจ้าคณะตำบลวัดชลอ บางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และในปีเดียวกันนั้น หลวงพ่อได้ย้ายไปเป็นรองเจ้าอาวาสวัดดาววึงษาราม หลวงพ่อได้เล่าว่า แล้วต่อมา เมื่อหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์ ท่านอายุ ๘๐ ปีเศษแล้ว ท่านหลงๆ ลืมๆ เพราะชรา เลยมีพระผู้ใหญ่คือ พระอุบาลีคุณูปจารย์ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม) ท่านเป็นเจ้าประคุณสมเด็จวัดสามพระยา (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ฟื้น ชุตินฺธโร) ปรารภกันถึงผู้จะแทนก็เลยให้หลวงพ่อกลับมาวัดดาวดึงษ์รักษาการเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์
       พ.ศ.๒๕๐๓ หลวงพ่อได้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม
       พ.ศ.๒๕๐๔ หลวงพ่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม และในตำแหน่งเจ้าอาวาสนี้ หลวงพ่อได้ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา ๔๒ ปี
       หลวงพ่อได้เล่าต่อถึงอานิสงค์ที่ทำให้ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์ไว้ว่า หลวงพ่อมานึกถึงว่า ที่ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์ ก็เพราะว่าได้อานิสงค์ที่หลวงพ่อทำไว้ คือ เมื่อครั้งมาอยู่ตอนเป็นเด็กเป็นเณรอยากได้บุญ ถึงเวลาเช้า จะเวรหรือไม่ใช่เวรไม่รู้ ก่อนทำวัตรหลวงพ่อต้องไปที่พระอุโบสถก่อนเชียว ไปปัดกวาดพระอุโบสถอยากได้บุญ ทำมาเป็นกิจวัตรเลย พอได้มาเป็นเจ้าอาวาสทำให้นึกถึงว่า เราเคยได้ปฏิบัติพระอุโบถสในพุทธาวาส เราจึงได้กลับมา นอกจากนั้น หลวงพ่อได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครอง ดังนี้
       พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรมคิรี บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
       พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นเจ้าคณะแขวงบางยี่ขันและศิริราช เขต ๒ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจตุรมิตรประดิษฐาราม
       พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นผู้รักษาการในตแหน่งเจ้าคณะแขวงบางยี่ขัน
       พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะแขวงบางยี่ขัน


งานการศึกษา
       พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นผู้จัดตั้งสำนักเรียนวัดพิกุลทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
       พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นกรรมการคุมการสอบธรรมสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
       พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนพระนวกะที่วัดดาวดึงษาราม โดยมีพระนวกะวัดดาวดึงษารามและวัดใกล้เคียง รวม ๖ วัด ปีละประมาณ ๗๐-๑๐๐ รูป
       พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นผู้ก่อตั้งและอำนวยการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดดาวดึงษาราม
       ในหนังสืออนุสรณ์งานมอบประกาศนียบัตร รร.พอ.วัดดาวดึงษาราม ๖ กันยายน ๒๕๑๓ ได้กล่าวว่า
       โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดดาวดึงษาราม ได้เปิดทำการสอนวันแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ตรงกับวันแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๙ มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูโสภณธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม รูปปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการ และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ได้เสียสละเวลาช่วยทำการสอนและได้รับความอุปถัมภ์เป็นอย่างดี โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ (๑)เพื่อให้เด็กและเยาวชนผู้สนใจวิชาการทางพระพุทธศาสนาได้มีสถานที่เรียนโดยเฉพาะ (๒)เพื่อปลูกฝังศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่เด็กๆและเยาวชน (๓)เพื่อให้เด็กและเยาวชนดำเดินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา (๔)เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และรู้จักบำเพ็ญกุศลสาธารณะ

       โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดดาวดึงษาราม เปิดสอนเฉพาะในวันอาทิตย์ โดยรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งในแต่ละปีนั้นมีนักเรียนประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ คน ปัจจบันได้ยุติการเรียนการสอนด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย
       พ.ศ.๒๕๑๘ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสำนักเรียนวัดดาวดึงษารามอย่างเป็นทางการจากกรมศาสนา ซึ่งก่อนหน้านั้นวัดดาวดึงษารามได้จัดให้มีการเรียนการสอน มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ แล้ว หลวงพ่อได้ตั้งใจและมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจอย่างสุดชีวิตในเรื่องของสำนักเรียน หลวงพ่อได้เล่าว่า
       การตั้งสำนักเรียนที่สำเร็จและแข็งแรงกันอยู่ทุกวันนี้ และโด่งดังเนื่องด้วยหลวงพ่อเป็นว่าเราไม่ได้เล่าเรียนเท่าไหร่ บางครั้งเป็นนักเทศน์ ก็ไปเทศน์กับองค์อื่นเขา โอ้โฮ บางทีเขาเป็นประโยค ๙ แถมเป็นดอกเตอร์อีก โอ้โฮ เขานี้ร่ำเรียนมามาก แต่เรานี้ไม่มีอะไร เห็นว่าการสร้างวัดวานี้เป็นเรื่องธรรมดาสู้การศึกษาไม่ได้ หลวงพ่อเลยเอาใจใส่การเรียนตั้งแต่สมัยอยู่วัดพิกุลทอง ก็ตั้งการเรียนบาลีนักธรรมเหมือนกันสมัยนั้น ต่อมาพอย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์ วัดดาวดึงษารามนี่เป็นพระอารามหลวง หลวงพ่อก็เลยจับเรื่องการศึกษา เรื่องการศึกษาบาลีนี้แหละ หลวงพ่อเห็นว่า เรื่องแบบสำคัญ สมัยนั้นก็ไปตามเรื่องตามราวของเราการเรียนต้องมีคนคอยดูแลบังคับบัญชา ตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อก็เลยต่อแบบ ต่อแบบกันเองเลย ใครไม่ไหวก็เรียนไม่ได้ ต่อแบบพอใครท่องได้ให้รางวัล เราต่อเองบ้าง ให้พวกพระมหาเปรียญช่วยต่อบ้าง เอาใจใส่เรื่องการต่อแบบ พอต่อแบบได้ก็ดูแลเขาตอนเรียน ใครท่องได้ให้รางวัล ใครสอบได้ให้รางวัล และคอยอุดหนุนจุดเจือพวกที่เป็นนักเรียน ผลสุดท้าย จึงทำให้การเล่าเรียนเจริญขึ้น

       การต่อแบบ คือ การท่องกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ของภาษาบาลีให้จำได้ แล้วไปท่องให้คืนอื่นฟัง โดยเฉพาะสำนักเรียนวัดดาวดึงษาราม ต้องไปท่องให้หลวงพ่อฟังเท่านั้น ถ้าจำได้ท่องได้ก็คือว่าท่องแบบผ่าน แบบ หรือ กฎเกณฑ์ไวยากรณ์แบ่งเป็น ๔ เล่ม คือ ๑.นามและอัพยศัพท์ ๒.อาขยาตและกิตก์ ๓.สมาสและตัทธิต ๔.สมัญญาภิธานและสนธิ แล้วก็จะให้ท่องเล่มต่อไปจนครบทั้ง ๔ เล่ม เมื่อครบทั้ง ๔ เล่มแล้ว ก็จะมีการทบทวนเป็นบางครั้งบางคราวตามแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควรในสำนักเรียนวัดดาวดึงษาราม เมื่อสอบได้ประโยค ๑-๒ แล้วต้องบททวนแบบกันปีละ ๒ ครั้งในเวลาใกล้สอบ บางทีหลวงพ่อเห็นสมควร ก็จให้ท่องในช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษาด้วยรวมปีละ ๒-๓ ครั้ง
       เรื่องการต่อแบบนี้หรือการท่องแบบนี้ หลวงพ่อจะให้ความสำคัญมากเพราะท่านถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาภาษาบาลี ถ้าเริ่มต้นดี สิ่่งที่ตามมาก็จะดีไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะท่านประสบมากับตัวเองดังที่ท่านเล่าว่า

       เรื่องเรียนนี้ สมัยนั้นหลวงพ่อก็เรียนบาลี แต่ไม่เก่งกาจอะไรคือ สมัยโน้นวัดดาวดึงษ์ที่เขาเรียนกัน เขาเป็นมหาเปรียญ เพราะเขามีหลวงพ่อ หลวงอา คอยตักเตือน คอยเอาใจใส่ ส่วนเรานี่มาอยู่ตามธรรมดาไม่มีหลวงพ่อหลวงอาที่เอาใจใส่ เรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ ถ้าอย่างนั้น มันจึงไปไม่รอด เรื่องการเรียนนี้ ถ้าเอาบ้าง ไม่เอาบ้างมันไม่ไหวยิ่งบาลีด้วย เวลานี้หลวงพ่อจึงเอาจริงเอาจัง กับพวกที่มาเรียน พอมาเรียนให้เอาจริงเอาจัง ต่อแบบต่อแผนใครเรียนไม่ไหวก็กลับไป เรียนต้องเรียนให้ติดๆ ต่อๆ กัน หลวงพ่อได้ตัวอย่างมากับตัวเอง แล้วถ้าไม่มีใครคอยควบคุม มันก็เหลวโดยมาก หรือว่าบุญเราไม่ถึงด้วย ก็เลยได้กันแค่นี้ ไม่ได้เป็นมหาเปรียญกับเขา อยากให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เป็นมหาเปรียญกับเขา เลยจับหลักได้ บาลีเนี่ยเรียนต้องเอาจริงๆ ต้องคุมกันเลย ให้ต่อแบบต่อแผนเอากันเรียนให้ติดต่อกันไป มันเพลินมันก็สนุกไป รอดไปไหว การเรียนบาลีนี่ก็เรียนยากน่าดูเหมือนกัน แต่ลองท่องบ้าง ไม่ท่องบ้าง ก็เสร็จกัน ไปไม่รอด นอกจากนั้นหลวงพ่อได้เล่าถึงการเรียนการศึกษาของท่านว่า ส่วนหลวงพ่อนี้เรี่มเรียนนักธรรม ตั้งแต่เป็นเด็กไปเรียนที่วัดุสิตสมัยนั้นต้องเดินบุกสวนไป ถึงหน้าฝนก็ต้องบุกเลนบุกตมไป ไปเรียนนักธรรมตรีวันแรกเทียว พระมหาสุง วัดดุสิต ซึ่งต่อมาได้เป็นพระวิสุทธิวงศาจารย์ ซึ่งได้ย้ายไปอยู๋วัด พิชยญาติการาม ตอนนี้ได้มรณภาพไปแล้ว ตอนนั้นเป็นอาจารย์สอนคนแรกเลย จำได้จนกระทั่งบัดนี้ ท่านสอนว่า "ศัพท์ของบาลีนี้บางศัพท์เป็นคำกลางๆ แต่หมายไปในทางหนึ่ง เช่น ถ้าพูดถึงเวทนา เวทนานี่เราหมายเอาฝ่ายไม่ดีคือทุกขเวทนา" ได้ ท่านสอนในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อเป็นนักเทศน์ไปเทศน์ที่สถานีวิทยุ วปถ.๒ ธรรมาสน์กับเจ้าคุณพระเทพมุนี วัดบพิตรพิมุข ซึ่งเวลานี้ท่านมรณภาพไปแล้ว พันเอกเกรียง วิวัฒนาสิน ถามว่า คนที่มีอายุมาก จะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมมาก แต่สงสัยว่า พระพุทธเจ้านี้ ๘๐ พรรษา พระอรัหันต์บางองค์ตั้ง ๑๒๐ พรรษาก็มี ใครจะมีคุณธรรมเกินพระพุทธเจ้าไปได้ พันเอกเกรียงให้เจ้าคุณวัดบพิตรพิมุขตอบ เราเลยนึกได้เมื่อครั้งเรียนตอนเป็นเด็กอาจารย์พระมหาสุงสอนว่า พระพุทธเจ้าเสียชีพไม่ยอมเสียสัตย์ พญามารทูลเชิญให้นิพพานเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าใหม่ๆ พระองค์ยังว่า ให้พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เจริญแพร่หลายแล้วจึงจะนิพพาน เพราะฉะนั้น พยามารมาเตือนจึงยอมนิพพาน เสียชีพไม่ยอมเสียสัตย์ เนี่ยเรียนมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นนะ เอามาใช้ได้จวนจะ ๘๐ ปี ยักนึกได้ การเรียนการศึกษานี่นะมันจะติดตัวไปนาน

       ผลจากการทุ่มเทกำลังกายกำลังใจหลวงพ่อทำให้สำนักเรียนวัดดาวดึงษารามเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงมีเกียรติคุณแพร่กระจายไปในวงการของการศึกษาคณะสงฆ์ ดังนี้

       พ.ศ.๒๕๒๑มีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ๒ รูปในสำนักเรียนวัดดาวดึงษารามเป็นครั้งแรกของการศึกษาคณะสงฆ์คือ ๑.สามเณรสุรินทร์ คุ้มจั่น ๒.สามเณรประเชิญ ชื่นรักชาติ และทั้ง ๒ รูป ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปีนั้นเอง
       พ.ศ.๒๕๒๖ได้รับยกย่องให้เป็นสำนักเรียนตัวอย่างที่จัดการเรียนการสอนได้ดีเด่นจากกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ
       พ.ศ.๒๕๒๘หลวงพ่อได้รีบเลือกให้เป็นผู้คำคุณประโยชน์แก่พระศาสนาดีเด่น ด้านการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา
       พ.ศ.๒๕๓๐มีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ๓ รูปในสำนักเรียนเดียวกันเป็นครั้งแรกของการศึกษาคณะสงฆ์ คือ ๑.สามเณรเสวก มีลาภกิจ ๒.สามเณรสุทิ สุขดี ๓.สามเณรสำเนียง เลื่อมใส และทั้ง ๓ รูปไ้ดรับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
       พ.ศ.๒๕๓๔มีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ๒ รูปในสำนักเรียนเดียวกัน คือ ๑.สามเณรสมบัติ หม้อมีสุข ๒.สามเณรสุทัศน์ นักการเรียน และทั้ง ๒ รูปไ้ดรับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนั้น ในปีนี้ หลวงพ่อยังได้รับโล่เกียรติยศผู้จัดการศึกษาดีเด่น จากเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
       หลวงพ่อภูมิใจกับผลงานที่ท่านได้สร้างมาจาก ๑ สมอง ๒ มือ ของท่านเป็นอย่างมาก หลวงพ่อเล่าว่า

       แล้วเรื่องการเล่าเรียนการศึกษานี่ พอมาตั้งแล้วเจริญ จนถึงกับว่า วัดดาวดึงษ์นี่มีประโยค ๙ สอบได้กันไม่น้อยหน้าใคร ประโยค ๙ เป็นเณรก็ได้มากันเยอะแยะ นี่เป็นเพราะผลที่เราทำมา ส่วนการศึกษาเล่าเรียนของวัดดาวดึงษ์นี้ก็ผิดคาด คือ พ.ศ.๒๕๒๑ มีเณรวัดดาวดึงษ์สอบประโยค ๙ ได้ ๒ รูป สมัยนั้นซึ่งยังไม่มีในสำนักอื่น แต่ต่อมาสำนักอื่นเขามี พ.ศ.๒๕๓๐ เณรวัดดาวดึงษ์สอบได้ประโยค ๙ อีก ๓ รูป และเณร ๓ รูปนี้ ได้ประโย ๑-๒ จนถึงประโยค ๙ ที่วัดดาวดึงษารามนี้ทั้งนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมวิมลโมลี ต่อมาเป็น เจ้าคุณวโรดม ในสมัยที่ท่านเป็นรองเเม่กองบาลีท่านบอกว่า "เณรที่ได้ประโยค ๙ สำนักเรียนหนึ่ง ๓ รูป ต่อไปไม่มีอีกแล้ว แม้วัดดาวดึงษ์เองก็มีแค่นี้ " เอ้...ต่อมาก็ยังไม่เห็นมีที่ไหนเหมือนกัน พ.ศ.๒๕๓๔ วัดดาวดึงษารามเองก็มีเณรสอบได้ประโยค ๙ อีก ๒ รูป และวัดอื่นที่เป็นสามเณรสอบได้ประโยค ๙ สำนักเรียนหนึ่ง ๓ รูปก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นที่เขาพูดตต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว ต้องคอยดูว่าต่อไปจะมีอีกไหม ยังสงสัย มีผู้ถามหลวงพ่อว่า "หลวงพ่อเห็นประโยชน์อะไรจึงส่งเสริมให้พระเณรวัดดาดึงษ์เล่าเรียนศึกษาทั้งทางโลกทางธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ" หลวงพ่อตอบว่า "คือสิ่งที่ส่งเสริมเขาก็เพื่อให้เขาเอาตัวรอด ให้เขาเอาตัวรอดไป คือ ไม่ต้องการว่าได้แล้วให้เขาบวชอยู่จนกระทั่งตาย เอาเขาไว้ใช้ เมื่อเขาเอาตัวรอดแล้ว ใครมีทางช่วยเหลือตัวเองได้ก็ไป ไม่เสียดาย ไม่เป็นห่วง แต่ขอให้เอาตัวรอดไปได้ก็แล้วกัน ถ้าให้เขาเรียนแต่ทางธรรมก็ต้องการแต่เอาเขาไว้ใช้ นี่หลวงพ่อไม่ต้องการเอาไว้ใช้อย่างเดียว ใครจะอยู่ก็อยู่ ใครจะไปก็ไป ให้เขามีทางไป มีทางรอดก็แล้วกัน เราก็พลอยดีใจกับเขาแล้ว เป็นการช่วยเขา" หลวงพ่อได้มีวิธีการส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนในสำนักเรียนวัดดาวดึงษาราม ซึ่งพอจะสรุปเป็นหัวข้อหลักๆ ได้ดังนี้
       ๑.มีการต่อแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ และควบคุมการสอนอย่างต่อเนื่อง
       ๒.ได้จัดตั้งรางวัลแต่นักเรียนที่สอบได้ทุกชั้น
       ๓.ได้จัดหาอุปกรณ์ทางการศึกษาให้แก่พระภิกษุและสามเณร
       ๔.ให้นิตยภัตรประจำแก่สามเณรเปรียญและสามเณรนักเรียนทุกรูป
       ๕.จัดนิตยภัตรถวายพระาอาจารย์ที่ทำการสอน
       ๖.ส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรที่สำเร็จปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตและศาสนศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อต่างประเทศ

       พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นผู้จัดตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการสถานพัฒนาเด็กและสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งได้จัดตั้งที่วัดดาวดึงษารามเป็นแห่งแรก ได้เปิดทำการเป็นวันแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถร) เป็นประธานในพิธี ปัจจุบันสถานพัฒนาเด็กสภาสตรีแห่งชาติ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนวัดดาวดึงษาราม" รับดูแลเด็กอายุ ๒ ขวบครึ่ง - ๖ ขวบ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑.เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวที่ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้านและขาดผู้ดูแลเด็ก ๒.เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนในการเรียนรู้กาช่วยเหลือตัวเองและได้รู้จักเพื่อนและสิ่งแวดล้อม ๓.ส่งเสริมให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการรวหมู่ การเรียนรู้กฎเกฑณ์แบบง่ายๆ เพื่อให้เป็นผลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป ๔.พัฒนาด้านศีลธรรม สติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบ ๕.เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการ สุขภาพพลานามัยแข็งแรง ๖.เพื่อให้ผู้ปกครองมีโอกาสทำความเข้าใจถึงการเรียนดูเด็กอย่างถูกต้อง


กิจวัตรและปฏิปทา

       บุคคลผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อย่อมทราบดีว่า หลวงพ่อมีกิจวัตรปฏิปทา มีวัตรปฏิบัติอย่างไร ในที่นี่จะขอกล่าวถึงกิจวัตรของหลวงพ่อก่อน ดังนี้
       เช้ามืด หลวงพ่อจะตื่นจากจำวัด ประมาณ ๕ นาฬิกา ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษาหลวงพ่อจะตื่นมาครองผ้า และนำพระนวกะทำวัตรสวดมนต์ในเวลา ๔ นาฬิกา
       ประมาณ ๗ นาฬิกา ฉันอาหารเช้า โดยอาหารเช้าจะเป็นข้าวต้มที่มีญาติโยมน้ำมาถวายประจำ
       เวลา ๘ นาฬิกา ทำวัตรเช้า หลังจากนั้น หากไม่มีกิจนิมนต์ไปที่ไหน หลวงพ่อจะเดินดูการเรียนการสอนภายในวัด ภาพที่เห็นจนชินตา คือ หลวงพ่อเอาจีวรพาดไหล่ มือไขว้หลัง เดินดูไปตามห้องเรียนชั้นต่างๆ
       เวลา ๑๗ นาฬิกา ทำวัตรเย็น หลังจากนั้น หลวงพ่อจะเรียกสามเณรที่ยังต้องท่องแบบมาต่อแบบกับท่าน
       เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา หลวงพ่อจะสวดมนต์ไหว้พระ จากนั้นก็จำวัดบทสวดก่อนกราบพระของหลวงพ่อที่ท่านสอนคือ พุทฺธปูชา มหาเตชวนฺโต ธมฺมปูชา มหาปญฺโญ สงฺฆปูชามหาโภควาโห
       ปฏิปทาที่จัดว่าเป็นปฏิปทาโดดเด่นของหลวงพ่อคือ
       -ด้านเมตตาธรรม
       -ด้านกตัญญูกตเวที
       -ด้านสังคมสงเคราะห์

ด้านเมตตาธรรม

       การที่หลวงพ่อตั้งสำนักเรียนวัดดาวดึงษาราม รับเด็กและนักเรียนอายุระหว่าง ๑๒-๑๖ ปีมาเล่าเรียน จัดหาอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้กับพระภิกษุสามเณร โดยที่พระภิกษุสามเณรวัดดาวดึงษารามทุกรูป ไม่ต้องขวานขวายอะไรในการเลี้ยงชีพ นอกจากตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเดียว การที่หลวงพ่อทำเช่นนี้ได้ และทำมาตลอดชีวิตที่เป็นสมณะของหลวงพ่อ นัดได้ว่า ท่านมีความเมตตากรุณาอย่างยากที่จะหาใครมาเปรียบได้
       สุภาษิตไทยที่ว่า "เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม" ซึ่งก็หมายถึง เอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงดูเป็นภาระรับผิดชอบ และหวังผลตอบแทนแน่นอนไม่ได้นั้น แต่หลวงพ่อไม่ได้คำนึงถึงสุภาษิตบนี้ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพิกุลทองพระ ภิกษุสามเณรรุ่นแล้วรุ่นล่ามาดูแล ให้การศึกษาเล่าเรียน เมื่อเรียนจบใครจะอยู่ ใครจะไป ก็ไม่ห้าม หลวงพ่อไม่เคยเหนี่ยวรั้งใครให้ต้องอยู่รับใช้ท่าน เมื่อไปได้ดี มีหน้าที่การงาน มีหน้ามีตาในสังคม ท่านก็พลอยดีใจด้วย อาจารย์ประเชิญ ชื่นรักชาติ ลูกศิษย์คนหนึ่งได้กล่าวว่า "หลวงพ่อเปรียบเทียบตัวเองเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ ที่ฝูงนกฝูงกาต่างพากันมาอาศํยร่มเงาเพื่ออยู่อาศัยหรือหลบภัย ในขณะที่พวกมันอาศัยอยู่นั้น ต่างก็กินก็อยู่ ฉี่รดอึรดต้นไม้นั้น พอถึงคราวอยากจะไปก็พากันบินหนีไปโดย ไม่คิดห่วงใยต้นไม้นั้นเลย ต้นไม้นั้นไม่เคยแสดงความน้อยใจ หรือไม่พอใจอะไรออกมา "
       ปฏิปทาหลวงพ่อที่ได้กระทำมา จึงจัดได้ว่าเป็นปฏิปทาที่ควรค่าแก่การถือเป็นแบบอย่าง
       หลวงพ่อมีเมตตาธรรมเป็นอัปปมัญญา คือ แผ่กระจายไปทั่ว มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ใช่ว่าท่านจะทำเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ท่านทำมาตลอดสม่ำเสมอ ศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อ คือ อาจารย์เสน่ห์ นุชรารถ เล่าให้ฟังว่า "หลวงพ่อเมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพิกุลทองแล้ว ที่วัดบางแวกซึ่งท่านเคยจำพรรษาอยู่แต่เดิมนั้นท่านยังมีกุฏิอยู่ เมื่อท่านกลับไปวัดบางแวกท่านจะเลี้ยงพระเลี้ยงเณรเหมือนกับว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางแวกเสียงเอง ไปเทศน์ได้กัณฑ์เทศน์มา ท่านก็จะเอาไปเลี้ยงพระเลี้ยงเณรตลอด"

ด้านกตัญญูกตเวที

       พระครูโวทานธรรมาจารย์ หรือที่หลวงพ่อจะเรียกว่า "ท่านเก่า" นั้นหลวงพ่อจะให้ความเคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อได้เล่าว่า

       อีกอย่างหนึ่ง เรื่องความกตัญญูเนี่ย หลวงพ่อกับหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์นี่ไม่ใช่ตัวโปรดปรานหรอกนะ ไปไหนดุกันเรื่อยเลย แต่เราไม่ถือ เราเข้าหน้าท่านเรื่อย ไปไหนท่านดุเราก็เข้าชิดท่าน เราไม่ถือท่าน ถึงคราวท่านเจ็บไข้ เราก็ปฏิบัติท่านเต็มที่ ผลกตัญญูกตเวทีนี่ ผลสุดท้ายพอเรามีลูกศิษย์ลูกหาภายหลัง ลูกศิษย์ลูกหาก็จะเป็คนกตัญญูกตเวทีต่อเราเหมือนกัน ทำอะไรมั้นสะท้อน
       เมื่อถึงวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์ ในปลายเดือนมกราคม หรือ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลวงพ่อจะจัดพิธีทำบุญ เรียกว่า ทำบุญอุทิศอดีตเจ้าอาวาส โดยหลวงพ่อจะกล่าวเสมอว่า ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับอดีตเจ้าอาวาส โดยมีหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์เป็นต้น

ด้านสังคมสงเคราะห์
       น้องสาวของหลวงพ่อคือนางพร้อม ตรีวาส กล่าวว่า "หลวงพี่ไม่ได้ส่งเสริมศาสนาอย่างเดียว ท่านส่งเสริมเยาวชนด้วย ส่งเสียพี่น้องลูกหลานหรือคนที่รู้จักมักคุ้นให้เรียนเป็นนายร้อย -นายพันก็หลายคน ทำราชการอีกหลายคน เป็นพยาบาลก็มี ไม่ใช่แค่ลูกหลานเท่านั้น คนอื่นที่รู้จักมาขอค่าเทอมให้ลูกหลาน ท่านก็ให้ เมื่อท่านบวชพรรษาแรก ท่านได้ทำศพให้พ่อมีงาน ๓ วัน ๓ คืน พออยู่มาไม่กี่ปี หลวงปู่เพิ่มป่วยเป็นอัมพาต ท่านพาหลวงปู่มารักษาที่วัดดาวดึงษ์ พอหลวงปู่มรณภาพลง ท่านก็ทำศพให้ พี่น้องลูกหลานตายท่านก็จัดการเรื่องทำศพให้ ย่าเสียชีวิตท่านก็ทำศพให้ แม้แต่คนอื่นตายท่านก็ยังเผาให้ เมื่อแม่ตายอยู่บ้านช้าง หมู่ ๕ ท่านซื้อลูกหีบทองเอาไปใส่ศพแม่ ศพแม่เอาไว้ที่บ้านประมาณ ๑๐๐ วัน ถึงวันพระใหญ่ทุกวันพระ ท่านจะนิมนต์พระไปสวด เมื่อจะเผาแม่ ท่านได้นำศพแม่มาทำศพที่วัดดาวดึงษ์ นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร ) มาเป็นประธานในการจุดไฟ ลูกหลานคือคณะศิษย์แต่งงานไปกราบท่านท่านก็ให้ของขวัญทุกคน ลูกหลานรับปริญญาไปกราบท่าน ท่านก็ให้ของขวัญทุกคน ใครเจ็บไข้ไม่มีเงินรักษา ท่านก็ช่วย ให้เงินไปหาหมอ"

       ใครก็ตามที่รุ้จักคุ้นเคยกับหลวงพ่อหรือมีอุปการคุณต่อวัด ต่อหลวงพ่อ เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสียชีวิต หลวงพ่อจะต้องช่วยเหลืออนุเคราะห์ทุกคนตามความเหมาะสม
งานพิเศษ
       ได้รับไปทำกิจพระพุทธศาสนาและดูแลการพระศาสนาในต่างประเทศ ดังนี้
       พ.ศ.๒๕๐๙ ไปผูกพัทธสีมาวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
       พ.ศ.๒๕๑๐ ไปโดยเสด็จสมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพน ไปดูกิจกรรมพระศาสนารวม ๑๖ ประเทศ
       พ.ศ.๒๕๑๑ ไปผูกพัทธสีมาวัดเชตวัน กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
       พ.ศ.๒๕๑๔ ไปโดยเสด็จสมเด็จพระสังฆราม วัดพระเชตุพน ไปประเทศกัมพูชา เนื่องในวันถวายพระเพลิงสมเด็จพระสังฆรามกัมพูชา
       พ.ศ.๒๕๑๔ ได้เข้ารับการอบรม และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบบัญชีวัดจากเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี
       พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นพระธรรมทูตสายพิเศษไปจังหวัดลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
       พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นวิทยากรของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.)
       พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นประธานหน่วยเทศบาลสหภูมิอยุธยา และ อปต. ภาค ๒
       พ.ศ.๒๕๒๕ ติดตามสมเด็จพระธีรญาณมุมี วัดจักรวรรดิราชาวาส ไปผูกพัทธสีมา ณ วัดไทยลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และวัดไทยพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และไปดูกิจกรรมประเทศอินเดีย
       พ.ศ.๒๕๒๗ เดินทางไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์สร้างวัดไทยกุสินารา ประเทศอินเดีย โดยการอาราธนาของนายจุมพล โพธิ์ศรีวิสุทธิกุล

สมณศักดิ์
       พ.ศ.๒๕๐๖ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรีที่ พระครูโสภณธรรมาจารย์
       พ.ศ.๒๕๑๑ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโทราชทินนามเดิม
       พ.ศ.๒๕๐๔ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกราชทินนามเดิม
       พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณธรรมาจารย์
       พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัติวิธาน บริหารศาสนกิจ มหาคณิสร บวรสังฆาราม คามวาสี
       พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปริยัติวิธาน ปฏิภานธรรมโกศล วิมลศาสนกิจ มหาคณิสร บวรสังฆาราม คามวาสี

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต

       วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖ หลวงพ่อได้เดินทางกลับไปวัดนาคสโมสรเพื่อเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับลูกชายของลูกศิษย์คนหนึ่ง เมื่อกลับถึงวัดท่านก็ยังพูดคุยปกติ ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ว่าในช่วงนั้นท่านเป็นไข้และได้ไปหาหมอรับยามาฉันที่วัด
       ในคืนวันที่ ๘ ต่อวันที่ ๙ กรกฎาคม หลังจากหลวงพ่อได้พูดคุยปรึกษาหารือกับพระมหาสุชาติ ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสแล้วท่านก็เข้าจำวัดปกติ        รุ่งเช้าวันที่ ๙ กรกฎาคมหลวงพ่อมีงานที่จะต้องเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับกุลบุตรซึ่งจะบวชในเทศกาลเข้าพรรษา ตามปกติหลวงพ่อจะตื่นจากจำวัดและลงมาด้านล่างประมาณ ๗ นาฬิกาเศษๆ เพื่อฉันภัตตาหารเช้า แต่วันนั้น ๘ นาฬิกา ใกล้เวลาที่จะบวชนาคแล้ว หลวงพ่อก็ยังไม่ลงมาจากกุฏิด้านบน ได้มีพระเณรและลูกศิษย์ทำการเคาะประตูเรียกท่าน ท่านก็ไม่เปิดประตู โทรศัพท์เข้าไปหาท่าน ท่านก็ไม่รับ สุดท้าย จึงได้พังหน้าต่างเข้าไป พลัดก็ได้เห็นหลวงพ่อนอนในท่าที่ลูกศิษย์ใกล้ชิดท่านเห็นเป็นประจำ คือ นอนตะแคงขวา และทั้งหมดก็รู้ว่า "หลวงพ่อได้ละทิ้งสังขารแล้ว" แพทย์ได้ลงความเห็นว่า ท่านได้มรณภาพด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ในเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ
       หลวงพ่อได้จากไปด้วยอาการอันสงบ โดยที่ไม่ได้ทำให้ใครต้องมาคอยปรนนิบัติท่าน โดยที่ท่านไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานแต่ประการใด คุณความดีที่หลวงพ่อได้สะสมตลอดชีวิตของท่าน จะต้องนำท่านไปสู่ภพภูมิที่ดี เสวยผลแห่งกรรมดีได้อย่างไม่ต้องสงสัย



เพจวัดดาวดึงษาราม
ธรรมะ-คติธรรม

อาสาฬหบูชา_วันแห่งการเปิดใจยอมรับความจริง ปกติมนุษย์ในโลกย่อมชำนาญต่อการปิดกั้นหัวใจ..อ่านเพิ่ม

ถ้าผมจะบอกคุณว่า "กิเลสมันพันอยู่ที่ขันธ์5 ตัณหามันร้อยอยู่ที่โลกธรรม8"อ่านเพิ่ม

วัตถุมงคล