--ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ--

จิตรกรรม
        จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดดาวดึงษารามนี้ วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นภาพจิตรกรรมที่มีความงดงามมาก เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของ ครูกงแป๊ะ(หลวงเสนีย์บริรักษ์) และครูทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฎา) เป็นช่างที่มีความสามารถและขึ้นชื่อในด้านนี้มาก มีผลงานฝากไว้ในแผ่นดินนี้มากมาย อาทิ วัดอรุณราชวราราม วัดสุวรรณาราม และวัดบางยี่ขัน เป็นต้น ปัจจุบันภาพจิตรกรรมช่องหน้าต่างได้เสียหายหมด จึงได้มีการเขียนภาพขึ้นโดยจิตรกร กลุ่มบ้านศิลปะ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นเรื่องทศชาติชากดทั้งสิ้น ได้รับการอุปถัมภ์จาก คุณหญิงสลวย ปาณิกบุตร

       ในส่วนของจิตรกรรมที่ยังเหลืออยู่ได้แก่ ด้านผนังหลังพระประธานเขียนเป็นเรื่องเวสสันดรชาดก ผนังด้านหน้าพระประธาน เขียนเป็นเรื่องมโหสถชาดก ในสกัดด้านหน้าด้านหนึ่งเขียนเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ไปแปลพระไตรปิฎกที่ประเทศลังกา อีกด้านหนึ่งเขียนเรื่องพระนางสามาวดี ซึ่งไม่ค่อยมีปรากฎเขียนที่วัดใด ส่วนในห้องสกัดด้านหลังพระประธานด้านหนึ่งเขียนเรื่องพระเจ้าทธิวาหนะ อีกด้านหนึ่งเขียนเรื่องพระมหากัสสปเถระ ซึ่งก็ไม่ค่อยมีปรากฎเช่นกัน


       เวสสันดรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี คือ บริจาคทาน กล่าวถึงพระเวสสันดรบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งพระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้ฝนหายแล้ง ทำให้ประชาชนไม่พอใจขอให้เนรเทศ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยโอรสธิดาได้เสด็จตามไปด้วย เมื่อชูชกไปขอสองกุมารก็พระราชทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาได้ไถ่สองกุมาร แล้วเสด็จไปรับกลับกรุงสีพี


       กัณฑ์ชูชก พราหมณ์ชูชก ขอทานได้นางอมิตตาบุตรสาวของเพื่อนเป็นภรรยา นางใช้ให้ชูชกไปขอสองกุมาร ชูชกเดินทางไปสืบข่าวในแคว้นสีพี สามารถหลบหลีกการทำร้ายของชาวเมือง พบพรานเจตบุตรให้บอกทางไปยังเขาวงกต


       กัณฑ์ฉกษัตริย์ กษัตริย์แคล้นกาลิงคะทรงคืนช้างปัจจัยนาเคนทร์ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระชาลี พระกัณหา เสด็จไปทูลเชิญพระเวสสันดร เมื่อกษัตริย์ทั้งหกพระองค์พบกันก็ทรงวิสัญญี


       มหาปัสสปเถรวัตถุ กล่าวถึงประวัติพระมหากัสสปเถระ ครั้นยังเป็นปิปผลิมาณพ คิดอยากจะออกบวชในวัยหนุ่ม บิดามารดาต้องการให้มีครอบครัวแต่ท่านปฏิเสธ บิดามารดาก็อ้อนวอนอีก ท่านจึงออกอุบายให้ท่านหล่อรูปหญิงสาวด้วยทองคำ แล้วบอกว่า ถ้าหาผู้หญิงได้เหมือนรูปทองคำนี้ ก็ยินดีจะแต่งงานด้วย มารดาจึงให้พราหมณ์เที่ยวไปแสวงหาที่ต่างๆ จนถึงเมืองสาคลนคร ครั้นสาวใช้ของนางภัททกาปิลานี เห็นรูปปั้นก็นึกว่าเป็นเจ้านายของตัวเองจึงร้องทักขึ้น พราหมณ์ได้ยินจึงพากันเข้าไปหานางภัททกาปิลานี แล้วสู่ขอมาให้ปิปผลิมาณพ ครั้นแต่งงานกันแล้ว ทั้งสองมีความประสงค์จะออกบวชทั่งคู่ ภายหลังจึงแยกย้ายกันไปออกบวช


       ทธิวาหนชาดก กล่าวถึงพระเจ้าทธิวาหนะตอนยังเป็นกลาสีล่องสำเภาไปแล้วเกิดล่มจึงว่ายน้ำเข้าฝั่ง จากนั้นได้แก้วมณีวิเศษใช้แก้วไปลวงเอาของวิเศษจาก ๓ ดาบส จากนั้นไปชิงเอาราชสมบัติจากพระเจ้ากรุงพาราณสี โดยเทหม้อนมส้มให้เป็นแม่น้ำจนทหารายหมดแล้วตั้งตนเป็น กษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าทธิวาหนะ


       มโหสถชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นมโหสถบัณฑิต กล่าวถึงมโหสถบัณฑิตที่เกิดมาพร้อมกับยา แล้วได้เป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้ สามารถแนะนำในปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้องรอบคอบเอาชนะที่ปรึกษาอื่นๆที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดี ไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราศัตรู และจับศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์ของนครอื่นได้
       ในภาพพระเจ้าจุลนีทรงเห็นว่ามิถิลา เมืองอุตรปัญจาล ยกทัพใหญ่มุ่งไปโจมตีมิถิลา มีเกวัฏพราหมณ์เป็นที่ปรึกษาใหญ่ แต่ไมว่าจะโจมตีด้วยวิธีใด มโหสถก็รู้ทัน สามารถตอบโต้และแก้ไขได้ทุกครั้งไป ในที่สุดกองทัพพระเจ้าจุลนีก็แตกพ่ายไป


       พระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา กล่าวถึงพระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปลังกาทางเรือ แล้วได้แปลอรรถกถาต่างๆ เป็นอันมาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ ได้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคในขณะที่อยู่ลังกา ในภาพแสดงถึงความเป็นอยู่ของชนชาติต่างๆ ในสยามสมัยรัชกาลที่ ๓


       เตมียชากด บำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือการออกบวชกล่าวถึงเตมียราชกุมาร เกรงการที่จะได้ครองราช เพราะทรงสลดพระหฤทัยที่ เห็นราชบุรุษลงโทษโจรตามพระราชดำรัสของพระราชา จึงแสร้งเป็นใบ้ พวกพราหมณ์ให้นำราชกุมารไปฝังเสีย สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถเพื่อจะฝัง ขณะที่ขุดหลุมอยู่ พระราชกุมารก็เสด็จออกจากรถ ทดลองพระกำลังทรงยกรถขึ้นจากนั้นตรัสกะนายสารถีว่า มีพระประสงค์จะออกบวช สารถีขอออกบวชด้วย จึงโปรดให้นำความไปเล่าถวายพระราชบิดาพระราชมารดาให้ทราบก่อน ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จออกไปเชิญพระราชกุมารให้เสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระราชกุมารกลับถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนกขัมมะ พระชนกชนนีด้วยบริวารเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชตาม


       พระมหาชนกชาดก บำเพ็ญวิริยบารมี คือความพากเพียร กล่าวถึงพระมหาชนกราชกุมารเดินทางไปทางทะเล เรือแตก คนทั้งหลายจมน้ำตายบ้าง เป็นเหยื่อของสัตว์น้ำบ้าง แต่ไม่ทรงละความอุตสาหะ ทรงว่ายน้ำโดยกำหนดทิศทางแห่งกรุงมิถิลา จนนางมณีเมขลามาช่วยในที่สุดก็ได้รอดชีวิตกลับไปครองราชสมบัติที่กรุงมิถิลา


       สุวรรณสามชาดก การบำเพ็ญเมตตาบารมี คือการแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า กล่าวถึง สุวรรณสามเลี้ยงมารดาบิดา ของตนซึ่งตาบอดอยู่ในป่า และเนื่องจากเป็นผู้มีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น หมู่เนื้อก็เดินตามแวดล้อมไปในที่ต่างๆ วันหนึ่งถูกพระเจ้ากรุงพาราณสี ชื่อปิลยักษ์ ยิงด้วยธนูด้วยเข้าพระหทัยผิด ภายหลังเมื่อทราบว่า เป็นมาณพผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็สลดพระทัย จึงไปจูงมารดาบิดาของสุวรรณสามมา มารดาบิดาของสุวรรณสามก็ตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสามขอให้พิษของศรหมดไป สุวรรณสามก็ฟื้นคืนสติและได้แสดงธรรมสอนพระราชา


       จันทกุมารชาดก การบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน กล่าวถึงจันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในราชกุมาร ต่อมาพระเจ้าเอกราชทรงพระสุบินเห็นสวรรค์ เมื่อตื่นจากบรรทมทรงใคร่จะทราบทรางไปสู่เทวโลก กัณฑหาลพราหมณ์กราบทูลแนะนำให้ตัดพระเศียรมเหสีพระโอรสธิดา เป็นต้น บูชายัญ พระเจ้าเอกราชก็ทำตาม แม้ใคร่จะทัดทานขอร้องก็ไม่เป็นผล ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องมาข่มขู่ชี้แจงให้หายเข้าใจผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ มหาชนก็รุมฆ่าพราหมณ์นั้นและเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์


       นารทชาดกชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเพียรอุเบกขาบารมี กล่าวถึง พระเจ้าอังคติราชมีความเห็นผิดว่า สุข ทุกข์ เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตายเกิด หนักเข้าก็บริสุทธิ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่าสังสารสุทธิแล้วทรงละเลยราชกิจ ทรงสำราญไปวันๆ จนพระธิดารุจาทรงทราบก็เสด็จเข้าเฝ้าตรัสติงในมิจฉาทิฐินั้น ก็ทรงไม่ฟัง พระธิดารุจาทรงอ้อนวอน ต่อเทพพรหมผู้ทรงธรรมทั้งหลายให้โปรดมาช่วย ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง นามว่า นารทะ ได้ยินคำอ้อนวอนก็เกิดเมตตาจึงแปลงเป็นฤาษีเหาะมาอยู่เฉพาะพระพักตร์ทั้งสองพระองค์ นารทพรหมพยายามอธิบาย และพรรณาถึงโทษของนรกขุมต่างๆ พระเจ้าอังคติราชทรงพิจาณาตามจนกลับมามีสัมมาทิฐิ


ขอคุณรูปภาพ:จากหนังสือวัดดาวดึงษาราม


เพจวัดดาวดึงษาราม
ธรรมะ-คติธรรม

อาสาฬหบูชา_วันแห่งการเปิดใจยอมรับความจริง ปกติมนุษย์ในโลกย่อมชำนาญต่อการปิดกั้นหัวใจ..อ่านเพิ่ม

ถ้าผมจะบอกคุณว่า "กิเลสมันพันอยู่ที่ขันธ์5 ตัณหามันร้อยอยู่ที่โลกธรรม8"อ่านเพิ่ม

วัตถุมงคล